THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

โครงสร้างสังคมพืชและการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือพื้นดินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์สวนไม้กำแพงเพชร

พัฒนา ชมภูวิเศษ1, พิสิทธิ์ โรยสกุล1, ภาณุวัฒน์ นิลอ่อน1 และ สถิตย์ ถิ่นกำแพง2,3*
1บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด กาญจนบุรี
2ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3ศูนย์ประสานงานเครือข่ายวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: kawlica_70@hotmail.com
บทคัดย่อ

ปัจจุบันประเทศไทยสถานการณ์พื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศมีแนวโน้มลดลง ส่งกระทบผลให้ความหลากหลายชนิดพรรณพืช และสัตว์ป่าลดลงตามไปด้วย บริษัทสยามฟอเรสทรี จำกัด ได้ทำการสงวนพื้นที่ของบริษัทไว้ประมาณร้อยละ 10 ของพื้นที่สวนไม้เศรษฐกิจ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์สวนไม้กำแพงเพชร เพื่อจัดทำเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์และวางแผนติดตามนิเวศวิทยาระยะยาว (long-term ecological research) โดยทำการวางชั่วคราวและแปลงถาวร ขนาด 20 เมตร x 50 เมตร รูปแบบละ 3 แปลง เพื่อสำรวจข้อมูลโครงสร้างป่าและปริมาณการเก็บกักคารบอนจากมวลชีวภาพเหนือพื้นดิน ผลการศึกษา พบชนิดพรรณไม้ทั้งหมด 77 ชนิด 61 สกุล และ 32 วงศ์ สำหรับพรรณไม้ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงอก ตั้งแต่ 2 เซนติเมตร มีความหนาแน่นเฉลี่ย 2,203 ต้นต่อเฮกตาร์ และ พื้นที่หน้าตัดเฉลี่ย 21.65 ตารางเมตรต่อเฮกตาร์ มีความหลากชนิดของพรรณไม้ตามค่าดัชนีของ Shannon-Weiner (H') ค่อนข้างสูง (H'= 3.66) ชนิดไม้เด่นในพื้นที่ได้แก่ พลวง (Dipterocarpus tuberculatus) ติ้วส้ม (Cratoxylum formosum) มะกอกเกลื้อน (Canarium subulatum) แดง (Xylia xylocarpa) มะม่วงหัวแมงวัน (Buchanania lanzan) เป็นต้น เมื่อทำการประเมินมวลชีวภาพเหนือพื้นดินและการเก็บกักคาร์บอนโดยรวมจาก พื้นที่ป่าอนุรักษ์สวนไม้กำแพงเพชร 923.54 ไร่ (147.77 เฮกตาร์) พบว่ามีมวลชีวภาพรวมทั้งหมดเท่ากับ 16,390.39 ตัน/พื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมด (110.92 ตัน/เฮกตาร์) คิดเป็นปริมาณการกักเก็บคาร์บอนทั้งหมด 7,703.48 ตันคาร์บอน/พื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมด (52.13 ตันคาร์บอน/เฮกตาร์) อย่างไรก็ตาม ควรมีการติดตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตในระยะยาว เพื่อนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาใช้สนับสนุนการฟื้นฟูป่า รวมถึงดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป

คำสำคัญ: นิเวศวิทยาระยะยาว ความหลากหลายทางพืชพรรณ การสืบต่อพันธุ์ ป่าเต็งรังรุ่นสอง


Download full text (Thai pdf)