THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

ลักษณะสังคมพืชและปัจจัยดินของป่าเต็งรังแคระป้องกันไฟ 40 ปี ในพื้นที่วนอุทยานแพะเมืองผี จังหวัดแพร่

ปรัชญาภรณ์ ศรีคุณ1,2, รุ่งรวี ทวีสุข1, พิทักษ์ไทย ประโมสี1, เพชรัตน์ จันทร์แก้ว2 และ แหลมไทย อาษานอก3*
1สาขาวิชาการจัดการป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่
2สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จังหวัดแพร่
3สาขาวิชาเกษตรป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: lamthainii@gmail.com
บทคัดย่อ

การศึกษาความสัมพันธ์ของลักษณะสังคมพืชกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมสามารถช่วยยกระดับความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการระบบนิเวศป่าไม้ ดังนั้นการศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างและองค์ประกอบของชนิดไม้ต้นภายใต้การแปรผันของปัจจัยดิน ในป่าเต็งรังแคระป้องกันไฟในพื้นที่วนอุทยานแพะเมืองผี จังหวัดแพร่ โดยการสุ่มวางแปลงตัวอย่างแบบเจาะจง ขนาด 20 เมตร x 20 เมตร จำนวน 15 แปลง พร้อมกับเก็บข้อมูลองค์ประกอบชนิดพืชและปัจจัยดิน เพื่อใช้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยดินที่มีผลต่อการปรากฎของพรรณไม้ ผลการศึกษา พบว่า มีชนิดไม้ต้นทั้งหมด 60 ชนิด 54 สกุล 28 วงศ์ จากไม้ทั้งหมด 1,457 ต้น สามารถแบ่งสังคมพืชในพื้นที่ศึกษาออกได้เป็น 3 สังคมย่อย ได้แก่ สังคมเต็ง สังคมรัง และสังคมขันทองพยาบาท โดยสังคมเต็ง พบพรรณไม้ทั้งหมด 34 ชนิด 32 สกุล 19 วงศ์ มีค่าดัชนีความหลากหลาย เท่ากับ 1.70 ชนิดไม้ที่มีความสำคัญ เช่น เต็ง (Shorea obtusa) เหียง (Dipterocarpus obtusifolius) และ รัง (Shorea siamensis) สังคมรัง พบพรรณไม้ทั้งหมด 34 ชนิด 31 สกุล 18 วงศ์ มีค่าดัชนีความหลากหลาย เท่ากับ 2.59 พบชนิดไม้ที่มีความสำคัญ เช่น รัง ประดู่ (Pterocarpus macrocarpus) และ สะเดาปัก (Vatica harmandiana) เป็นต้น และสังคมขันทองพยาบาท พบพรรณไม้ทั้งหมด 49 ชนิด 43 สกุล 24 วงศ์ มีค่าดัชนีความหลากหลาย เท่ากับ 3.13 พบชนิดไม้ที่มีความสำคัญ เช่น ขันทองพยาบาท (Suregada multiflorum) ติ้วเกลี้ยง (Cratoxylum cochinchinense) และเสี้ยวเครือ (Phanera bracteata) เป็นต้น นอกจากนั้นยังพบว่าชนิดไม้เด่นในสังคมเต็งถูกกำหนดด้วยฟอสฟอรัส ชนิดไม้เด่นในสังคมรังถูกกำหนดด้วยอนุภาคดินเหนียว โพแทสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม ไนโตรเจน และปริมาณอินทรีย์วัตถุ ส่วนชนิดไม้เด่นในสังคมขันทองพยาบาทถูกกำหนดด้วยอนุภาคดินทรายและเป็นสังคมที่มีการสะสมธาตุอาหารน้อยที่สุด ผลการศึกษาบ่งชี้ว่าการป้องกันไฟป่าในพื้นที่เป็นระยะเวลานาน สามารถทำให้องค์ประกอบของสังคมพืชป่าเต็งรังแคระเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากการเพิ่มพูนของการสะสมธาตุอาหารในดิน ดังนั้นการป้องกันไฟช่วยส่งเสริมการสะสมธาตุอาหารในดินและมีส่วนเร่งให้เกิดการตั้งตัวของชนิดพืชไม่ผลัดใบในสังคมมากขึ้น

คำสำคัญ: ความหลากหลายไม้ต้น การป้องกันไฟป่า การเปลี่ยนแปลงสังคมพืช พื้นที่ป่าอนุรักษ์


Download full text (Thai pdf)