THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

การวิเคราะห์เชิงพื้นที่เพื่อจำแนกป่าไม้ในพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีการสร้างเขื่อนสองรูปแบบ

ศิรสิทธิ์ วงศ์วาสนา สุระ พัฒนเกียรติ และ ธรรมรัตน์ พุทธไทย
1
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: sura.pat@mahidol.ac.th
บทคัดย่อ

การศึกษาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อจำแนกประเภทป่าไม้ด้วยระบบภูมิสารสนเทศในพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีการสร้างเขื่อนสองรูปแบบ ได้แก่ ลุ่มน้ำสาขาลำน้ำมูลตอนล่าง มีเขื่อนปากมูลซึ่งมีลักษณะเป็นเขื่อนทดน้ำแบบน้ำไหลผ่าน (run-of-river dam) และลุ่มน้ำสาขาลำโดมน้อย มีเขื่อนสิรินธรเป็นเขื่อนกักเก็บน้ำ (storage dam) โดยใช้ข้อมูลดาวเทียม LANDSAT-8 พ.ศ. 2560 มาทำการแปลตีความด้วยสายตา (visual interpretation) ประกอบกับข้อมูลทุติยภูมิอื่น ๆ ผลการศึกษาพบว่าพื้นที่ป่าไม้ของทั้งสองลุ่มน้ำลุ่มน้ำสาขา ส่วนใหญ่พบบริเวณเทือกเขาซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก โดยลุ่มน้ำสาขาลำน้ำมูลตอนล่างมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด 47.49 ตารางกิโลเมตร (ร้อยละ 4.98 ของพื้นที่ลุ่มน้ำ) แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าบุ่งป่าทาม ซึ่งป่าเต็งรังมีพื้นมากที่สุด เท่ากับ 31.85 ตารางกิโลเมตร ส่วนลุ่มน้ำสาขาลำโดมน้อยมีพื้นที่ป่าไม้มากกว่า โดยมีพื้นที่ป่าไม้เท่ากับ 793.68 (ร้อยละ 36.14 ของพื้นที่ลุ่มน้ำ) แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าบุ่งป่าทาม และ ป่าเบญจพรรณ โดยป่าดิบแล้งมีพื้นที่มากที่สุด เท่ากับ 609.39 ตารางกิโลเมตร นอกจากนั้นพบว่าป่าบุ่งป่าทามที่พบบริเวณริมลำน้ำมูล มีพื้นที่มากกว่าลำโดมน้อย อาจเนื่องมาจากรูปแบบของเขื่อนสิรินธรที่มีลักษณะเป็นเขื่อนกักเก็บน้ำส่งผลให้เกิดพื้นที่น้ำท่วมตลอดปี จึงปรากฏพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามน้อยกว่า ในขณะที่เขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน และลำน้ำมูลยังคงมีการท่วมสลับแล้งในแต่ละปี ส่งผลให้พื้นที่ป่าบุ่งป่าทามยังคงปรากฏอยู่มากกว่า

คำสำคัญ:


Download full text (Thai pdf)