THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

การศึกษาเชิงอภิมานการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการป่าชุมชนภาคเหนือของประเทศไทย

ปัญจพร คำโย และ สุมัย หมายหมั้น
1
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: punchaporn2525@gmail.com
บทคัดย่อ

จากสถานการณ์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรป่าไม้ลดลงอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดการส่งเสริมให้มีการจัดการ “ป่าชุมชน”โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทำให้งานวิจัยเรื่องการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชนมีผู้ทำวิจัยจำนวนมาก ทำให้ผลการวิจัยมีความหลากหลาย สำหรับการวิจัยครั้งนี้ศึกษาเพื่อวิเคราะห์คุณลักษณะงานวิจัย เพื่อศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชนและวิเคราะห์ปัจจัยคุณลักษณะงานวิจัยที่สัมพันธ์กับคุณภาพงานวิจัยของงานวิจัย โดยใช้วิธีการศึกษาเชิงอภิมาน จากงานวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษาและรายงานการวิจัยของกรมป่าไม้ ในช่วงปี พ.ศ.2536 – 2558 จำนวน 35 เล่ม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าแจกแจงความถี่ ร้อยละ และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบเป็นขั้นตอน ผลการวิจัย พบว่า ปีที่ทำวิจัยมากที่สุดคือ 2543,2545 และ 2546 สถาบันการศึกษาที่ผลิตงานวิจัยมากที่สุด คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขาวิชาที่ผลิตงานวิจัยมากที่สุด คือ สาขาส่งเสริมการเกษตร พบปัจจัยที่สัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมจากเล่มงานวิจัย จำนวน 21 ปัจจัย โดยมีปัจจัยที่พบมากที่สุด คือ การเป็นสมาชิกกลุ่ม ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับป่าชุมชน การได้รับข้อมูลข่าวสาร การได้รับการฝึกอบรม การใช้ประโยชน์จากป่า และพบว่าตัวแปรคุณลักษณะงานวิจัยที่สัมพันธ์กับคุณภาพงานวิจัย จำนวน 6 ปัจจัย ได้แก่ การคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ได้รับ, จำนวนตัวแปรที่ศึกษา, จำนวนสมมติฐาน, ความตระหนักในความสำคัญของป่า, สาขาที่ทำวิจัยและแนวคิดนโยบายสาธารณะ ซึ่งข้อค้นพบที่ได้จากการวิจัยเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการทำวิจัยเรื่องการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชนในอนาคต ทั้งการออกแบบการวิจัยที่เหมาะสมจากตัวแปรที่สัมพันธ์กับคุณภาพงานวิจัย และตัวแปรที่เหมาะสมในการนำมาหาความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วม

คำสำคัญ:


Download full text (Thai pdf)