THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

ความทนแล้งของกล้าไม้ยืนต้นและความสัมพันธ์ของลักษณะเชิงหน้าที่กับการรอดชีวิต ภายใต้การทดลองสภาวะแล้ง

รัตนมน อ้ายเสาร์1,2, พิมลรัตน์ เทียนสวัสดิ์2,3, ธนากร ลัทธิ์ถีระสุวรรณ 4 และ เดีย พนิตนาถ แชนนอน2,3*
1สาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
2หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
3ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
4สาขาวิชาการจัดการป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ - แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: dia.shannon@cmu.ac.th
บทคัดย่อ

วิกฤติการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยแล้งทำให้โครงการด้านการฟื้นฟูป่าต้องให้ความสำคัญกับการเลือกชนิดพืชมากขึ้น การขาดน้ำทำให้กล้าไม้เกิดความเครียด ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและการรอดชีวิตหลังปลูก การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบความสามารถในการทนแล้งของพืชท้องถิ่น 9 ชนิดในสภาพโรงเรือนที่มีการควบคุมและพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะเชิงหน้าที่ 10 ลักษณะกับความสามารถดังกล่าว มีการนำกล้าไม้ของพืชท้องถิ่นป่าผลัดใบจำนวน 9 ชนิด มาทดสอบภายใต้สภาพควบคุมในโรงเรือนเป็นเวลา 4 เดือน พบว่ามะค่าโมง (Afzelia xylocarpa) และ งิ้ว (Bombax ceiba) เป็นชนิดที่รอดชีวิตได้นานที่สุดในสภาพที่ไม่ได้รับน้ำ จากการศึกษาลักษณะเชิงหน้าที่จำนวน 10 ลักษณะทำให้จัดกลุ่มพืชได้ 4 กลุ่ม มะค่าโมงและงิ้วจัดอยู่ในกลุ่มที่มีคุณลักษณะเชิงหน้าที่ด้านความหนาแน่นของเนื้อเยื่อและรากเด่นตามลำดับ ทั้งนี้ในงานวิจัยนี้ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างคุณลักษณะเชิงหน้าที่กับระยะเวลาที่พืชรอดชีวิต การศึกษาลักษณะเชิงหน้าที่เพิ่มเติมในแต่ละระยะของการเจริญเติบโตของพืชที่อยู่ทั้งในสภาพแปลงฟื้นฟูและสภาพควบคุมจะส่งเสริมความเข้าใจในการเลือกชนิดที่เหมาะสมสำหรับการฟื้นฟูป่าท่ามกลางสภาวการณ์ความไม่แน่นอนด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

คำสำคัญ: การฟื้นฟูป่า, ลักษณะเชิงหน้าที่, การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, ป่าเขตร้อน, กล้าไม้ท้องถิ่น


Download full text (Thai pdf)