THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

ประสิทธิภาพของเชื้อเห็ดป่าเศรษฐกิจต่อการเจริญเติบโตของกล้าไม้ยางนา

มนต์นรินทร์ เรืองจิตต์1, สุธีระ เหิมฮึก1*, จุฑามาศ อาจนาเสียว1 และ นครินทร์ สุวรรณราช2
1คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่
2คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: h.sutheera@gmail.com
บทคัดย่อ

ยางนา (Dipterocarpus alatus) เป็นไม้เศรษฐกิจที่เป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมไม้ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามยางนาจัดเป็นไม้กลุ่มโตช้ามีรอบตัดฟันที่ 20 ถึง 30 ปี ทำให้มีระยะเวลารอคอยจนถึงรอบตัดฟันค่อนข้างนาน การนำเชื้อเห็ดเศรษฐกิจกลุ่มเอคโตไมคอร์ไรซามาใช้ในกระบวนการผลิตต้นกล้าอาจเป็นแนวทางในการส่งเสริมอัตราการเจริญเติบโตของยางนาได้ ดังนั้นจึงทำการทดสอบผลของเชื้อเห็ดป่าเศรษฐกิจกลุ่มเอคโตไมคอร์ไรซา 2 ชนิด ได้แก่ เห็ดระโงก (Amanita vaginata) และเห็ดเผาะหนัง (Astraeus odoratus) และเห็ดกลุ่มย่อยสลายอินทรียสาร 1 ชนิด คือ เห็ดตับเต่า (Phlebopus portentosus) ต่อการเจริญเติบโตของกล้าไม้ยางนา โดยปลูกเชื้อเห็ดทั้ง 3 ชนิดให้กับต้นกล้าอายุ 6 เดือน แล้วทำการวัดการเติบโตทุก ๆ เดือนเป็นเวลา 6 เดือน ผลการศึกษาพบว่า การใส่เชื้อเห็ดทั้งสามชนิดในกล้ายางนา มีผลต่อการเติบโตด้านความโตคอรากและความสูงทั้งหมดมากกว่ากล้าที่ไม่ใส่เชื้ออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% กล่าวคือ กล้าที่ใส่เชื้อเห็ดระโงกมีความโตคอรากเฉลี่ยในระยะเวลา 6 เดือนมากที่สุด รองลงมาคือ กล้าที่ใส่เชื้อเห็ดตับเต่า กล้าที่ใส่เชื้อเห็ดเผาะ และกล้าที่ไม่ใส่เชื้อเห็ดมีค่าเท่ากับ 73.6±3.3, 70.5±2.5, 68.2±3.1 และ 66.6±2 มิลลิเมตร ตามลำดับ ด้านความสูงทั้งหมดพบว่า กล้าที่ใส่เชื้อเห็ดตับเต่ามีความสูงทั้งหมดมากที่สุด รองลงมาคือ กล้าที่ใส่เชื้อเห็ดเผาะ กล้าที่ใส่เชื้อเห็ดระโงก และกล้าที่ไม่มีการใส่เชื้อเห็ดมีค่าเฉลี่ยมีค่าเท่ากับ 41.89±0.75, 40.95±1.66, 40.37±1.10, 36.54±0.37 เซนติเมตร ตามลำดับ ผลการตรวจวิเคราะห์การเข้าอาศัยของเอคโตไมคอร์ไรซาในรากจากห้องปฏิบัติการพบว่า ต้นกล้าที่มีการใส่เชื้อเห็ดทั้ง 3 ชนิดมีการเข้าอาศัยบริเวณปลายราก โดยพบเส้นใยที่ปลายรากเกิดใหม่ ในกรรมวิธีที่มีการใส่เชื้อเห็ดระโงก และเชื้อเห็ดตับเต่า พบการเจริญของเส้นใยเข้าสู่รากชั้น epidermis ที่ 10 และ 30 เปอร์เซ็นต์ แสดงถึงความสามารถของเชื้อเห็ดเอคโตไมคอร์ไรซาในการเข้ากันได้กับรากพืชอาศัย

คำสำคัญ: กล้ายางนา เอคโตไมคอร์ไรซา เห็ดตับเต่า เห็ดระโงก เห็ดเผาะ


Download full text (Thai pdf)