THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL
ผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการเติมน้ำใต้ดิน บริเวณอำเภอนาดีและกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติในหลายด้าน รวมทั้งการกักเก็บน้ำในดิน ดังนั้นงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่ออัตราการเติมน้ำใต้ดิน บริเวณอำเภอนาดีและอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยการประยุกต์ใช้แบบจำลอง H08 ซึ่งเป็นแบบจำลองทางอุทกวิทยา ในการประเมินการเติมน้ำใต้ดินจากสถานการณ์จำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลการศึกษา พบว่า สถานการณ์ปัจจุบัน สถานการณ์จำลองการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำฝน 10% และสถานการณ์จำลองการลดลงของปริมาณน้ำฝน 10% มีอัตราการเติมน้ำใต้ดินเฉลี่ย 5 ปี (พ.ศ. 2559-2563) เท่ากับ 7.33x10-4, 7.35x10-4, 7.32x10-4 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งอัตราการเติมน้ำใต้ดินจากสถานการณ์จำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงเพียงเล็กน้อย คือ เพิ่มขึ้นเท่ากับ 63.07 และลดลง -31.54 ลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือคิดเป็น 0.22 และ -0.10 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการเติมน้ำใต้ดินเฉลี่ยจากสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม อัตราการเติมน้ำใต้ดินของทั้ง 3 สถานการณ์ มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน คือ อัตราการเติมน้ำใต้ดินมีแนวโน้มลดลงในช่วงฤดูแล้ง และค่อยๆ เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน จากผลการศึกษาจึงสรุปได้ว่า ปริมาณน้ำฝนมีผลต่อการเติมน้ำใต้ดิน แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของปริมาณน้ำฝน 10% นั้น ยังไม่ส่งผลต่อการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ศึกษาอย่างชัดเจน
คำสำคัญ: การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเติมน้ำใต้ดิน แบบจำลอง H08