THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

นิเวศวิทยาบางประการและการกระจายของต้องแล่งเขาใหญ่ (Polyalthia khaoyaiensis P. Bunchalee & Chantar.) ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ศิริพรรณ อุ่นอินทร์1,2*, วัฒนชัย ตาเสน2, สุธีร์ ดวงใจ2 และ เสกสรร ไกรทองสุข2
1คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ
2กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพฯ
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: siriphan.nan@gmail.com
บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานิเวศวิทยาบางประการรวมถึงการสร้างแบบจำลองพื้นที่การกระจายของต้องแล่งเขาใหญ่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ใช้วิธีการสำรวจตามเส้นทางที่กำหนด ด้วยการเดินสำรวจเก็บข้อมูลในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ จำนวน 7 เส้นทาง โดยวางแปลงสำรวจชั่วคราว ขนาด 10 x 10 เมตร และ 4 x 4 เมตร ในจุดที่พบการปรากฏของต้องแล่งเขาใหญ่เพื่อศึกษาสังคมพืชร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และโปรแกรม Maximum entropy version 3.4.4 เพื่อสร้างแบบจำลองพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการกระจายของของต้องแล่งเขาใหญ่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ผลการศึกษาพบการปรากฏของต้องแล่งเขาใหญ่ทั้งหมดจำนวน 70 ตำแหน่ง โดยพรรณไม้ที่ขึ้นร่วมกับต้องแล่งเขาใหญ่มากที่สุด คือ วงศ์เปล้า (Euphorbiaceae) พบจำนวน 10 ชนิด ค่าดัชนีความสำคัญของพรรณไม้ 5 อันดับแรก ได้แก่ ต้องแล่งเขาใหญ่ (Polyalthia khaoyaiensis Bunchalee & Chantar.) ก้านเหลือง (Gonocaryum lobbianum (Miers) Kurz) ยางเสียน (Dipterocarpus gracilis Blume) มะจ้ำก้อง (Ardisia complanate Wall.) และตังตาบอด (Excoecari oppositifolia Griff.) มีค่าเท่ากับ 105.73, 40.67, 12.51, 9.80 และ 8.66 %ตามลำดับ และมีค่าดัชนีความหลากหลายของ Shannon - Wiener เท่ากับ 3.19 จากการวิเคราะห์พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการกระจายของต้องแล่งเขาใหญ่ด้วยแบบจำลอง MaxEnt ที่มีค่า AUC เท่ากับ 0.949 สามารถจำแนกพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการกระจายของต้องแล่งเขาใหญ่ ได้เป็นพื้นที่เหมาะสมมาก (87.58 ตารางกิโลเมตร) เหมาะสมปานกลาง (346.31 ตารางกิโลเมตร) และเหมาะสมน้อย (1,727.32 ตารางกิโลเมตร) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 4.05, 16.02 และ 79.93 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ตามลำดับ ปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อการกระจาย คือ ลักษณะทางธรณีวิทยา รองลงมา คือ อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปี อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย ความลาดชัน ทิศด้านลาด อุณหภูมิเฉลี่ย ระยะห่างจากแหล่งน้ำ และระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล ตามลำดับ ผลการศึกษาสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนการจัดการเพื่ออนุรักษ์พืชถิ่นเดียวในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ต่อไป

คำสำคัญ: พืชถิ่นเดียว, ต้องแล่งเขาใหญ่, แบบจำลองการกระจาย, ถิ่นอาศัยที่เหมาะสม


Download full text (Thai pdf)