THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL
อิทธิพลของแนวกันลมต่อโครงสร้างป่า บริเวณสันทรายบางเบิด อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
อิทธิพลของลมทะเล ส่งผลต่อการตั้งตัวและการสืบต่อพันธุ์ของสังคมพืชป่าชายหาดเป็นอย่างมาก การสร้างแนวป้องกันลมอาจมีส่วนช่วยลดความเร็วลมและทำให้เกิดการทดแทนสังคมพืชเกิดได้ดีขึ้น วัตถุประสงค์การศึกษาเพื่อทราบอิทธิพลของแนวป้องกันลมต่อโครงสร้างสังคมพืชบริเวณสันทรายบางเบิด โดยวางแปลงถาวรจำนวน 3 แปลง ในพื้นที่สันทรายตามธรรมชาติและพื้นที่ปลูกสนทะเลป้องกันลม ในปี พ.ศ. 2557 และ 2559 ตามลำดับ ทำการติดเบอร์พรรณพืชที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1 เซนติเมตร วัดขนาดและระบุชนิด โดยมีการติดตามการสืบต่อพันธุ์ของพรรณไม้ทุก ๆ ปี นำข้อมูลที่ได้จากการติดตามในปี พ.ศ. 2563 มาทำการวิเคราะห์โครงสร้างสังคมบริเวณหลังแนวป้องกันลมและจำแนกสังคมพืชระหว่างพื้นที่สันทรายตามธรรมชาติและพื้นที่ปลูกสนทะเลป้องกันลม ผลการศึกษาพบพรรณไม้ป่าชายหาด บริเวณหลังแนวสนทะเล จำนวน 39 ชนิด 37 สกุล 26 วงศ์ มีความหนาแน่นและพื้นที่หน้าตัดเฉลี่ย เท่ากับ 8,138 ต้นต่อเฮกตาร์ และ 18.35 ตารางเมตรต่อเฮกตาร์ ตามลำดับ ค่าดัชนีความหลากหลายของ Shannon-Weiner index (H') อยู่ในระดับปานกลาง (H'= 2.88) ผลการวิเคราะห์ด้วย Non-metric multidimensional scaling (NMDS) สามารถจำแนกสังคมพืชบริเวณสันทรายได้ 2 กลุ่มคือ 1) กลุ่มสังคมพืชด้านหลังลมและด้านหลังแนวป้องกันลม และ 2) กลุ่มสังคมพืชด้านหน้าลม พรรณไม้เด่นในกลุ่มแรกส่วนใหญ่เป็นไม้ต้นและยืนต้นกึ่งไม้พุ่ม เช่น เขากวาง (Mischocarpus sundaicus) เสม็ดชุน (Syzygium antisepticum) งาไซ (Planchonella obovata) เมา (Syzygium grande) ช้างน้าว (Ochna integerrima) หว้าหิน (Syzygium claviflorum) ขันทองพยาบาท (Suregada multiflora) และ พริกไทยดง (Aporosa planchoniana) ขณะที่ในกลุ่มด้านหน้าลมส่วนใหญ่เป็นไม้พุ่มและไม้ยืนต้นกึ่งไม้พุ่มที่สำคัญคือเตยทะเล (Pandanus odorifer) และรักทะเล (Scaevola taccada) แสดงให้เห็นว่าการสร้างแนวป้องกันลมมีส่วนช่วยช่วยให้การทดแทนสังคมพืชบนสันทรายบริเวณด้านหน้าลมเป็นกลุ่มเดียวกับสังคมพืชบริเวณด้านหลังลมได้ดี สนทะเลมีรูปแบบการกระจายตามชั้นเส้นผ่าศูนย์กลางแบบระฆังคว่ำซึ่งแตกต่างจากพรรณพืชส่วนใหญ่และบ่งบอกถึงความไม่ต่อเนื่องในการรักษาโครงสร้างประชากร แม้ว่าสนทะเลมีส่วนช่วยสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการตั้งตัวของพืชชนิดอื่นบนสันทราย ดังนั้น การปลูกพืชที่เหมาะสมเช่น เมา งาไซ และเตยทะเล เพื่อสร้างแนวป้องกันลม นับว่ามีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ชนิดพรรณพืชและฟื้นฟูสังคมพืชบริเวณสันทรายหรือป่าชายหาดได้ดี
คำสำคัญ: การฟื้นฟูป่า การทดแทนตามธรรมชาติ ความหลากชนิดพืช ป่าชายหาด