THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

ลักษณะสังคมพืชและศักยภาพถิ่นที่ขึ้นของรักใหญ่ (Gluta usitata (Wall.) Ding Hou) ในป่าเต็งรัง บริเวณโครงการอนุรักษ์ต้นรักและการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้ประโยชน์จากยางรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่

พิศุทธิ์ ลักษวุธ1, วรรณา มังกิตะ1, กฤษดา พงษ์การัณยภาส 2 และ แหลมไทย อาษานอก2*
1สาขาวิชาการจัดการป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ - แพร่ เฉลิมพระเกียรติ แพร่
2สาขาวิชาเกษตรป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ - แพร่ เฉลิมพระเกียรติ แพร่
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: lamthainii@gmail.com
บทคัดย่อ

การศึกษาลักษณะสังคมพืชป่าเต็งรังที่มีรักใหญ่ (Gluta usitata (Wall.) Ding Hou) กับปัจจัยสิ่งแวดล้อมเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการอนุรักษ์และจัดการการใช้ประโยชน์น้ำยางจากรักใหญ่ตามธรรมชาติ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะโครงสร้างป่าเต็งรังและถิ่นที่ขึ้นที่เหมาะสมของรักใหญ่ บริเวณโครงการอนุรักษ์ต้นรักและการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้ประโยชน์จากยางรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ โดยสุ่มวางแปลงตัวอย่างแบบเป็นระบบ จำนวน 30 แปลง เก็บข้อมูลพรรณไม้และปัจจัยแวดล้อม ผลการศึกษา พบชนิดไม้ต้นทั้งหมด 54 ชนิด 47 สกุล ใน 24 วงศ์ มีค่าดัชนีความหลากชนิด เท่ากับ 2.86 มีค่าความหนาแน่นของหมู่ไม้และขนาดพื้นที่หน้าตัดของไม้ต้น เท่ากับ 1,386 ต้นต่อเฮกแตร์ และ 30.87 ตารางเมตรต่อเฮกแตร์ ตามลำดับ การจัดกลุ่มหมู่ไม้แบ่งสังคมพืชในพื้นที่ศึกษาออกได้เป็น 4 หมู่ไม้ ได้แก่ 1) หมู่ไม้พลวง-สนสองใบ 2) หมู่ไม้ก่อแป้น-พลวง 3) หมู่ไม้พลวง-ตาฉี่เคย และ 4) หมู่ไม้รัง-ก่อหัวหมู โดยรักใหญ่มีความหนาแน่นและขนาดพื้นที่หน้าตัดเฉลี่ย เท่ากับ 93 ต้นต่อเฮกแตร์ และ 2.57 ตารางเมตรต่อเฮกแตร์ ตามลำดับ จากการสร้างแบบจำลองความสัมพันธ์ของปัจจัยสิ่งแวดล้อมกับการปรากฏของรักใหญ่ในพื้นที่ด้วยวิธีวิเคราะห์สมการถดถอยแบบเส้นตรง พบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ในถิ่นที่ขึ้นของรักใหญ่ ที่ระดับความถูกต้องร้อยละ 88 โดยปัจจัยที่มีผลในเชิงบวกต่อปัจจัยในถิ่นที่ขึ้นของรักใหญ่ ได้แก่ ระดับความสูงจากน้ำทะเล ทิศด้านลาด ระยะห่างจากลำห้วย อุณหภูมิเฉลี่ย ความเป็นกรดด่าง ไนโตรเจน โพแทสเซียม แมกนีเซียม อนุภาคทราย และ อนุภาคทรายแป้ง ส่วนปัจจัยที่มีอิทธิพลในเชิงลบ ได้แก่ ความลาดชันของพื้นที่ ความโค้งนูนของพื้นที่ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย อินทรียวัตถุในดิน ฟอสฟอรัส แคลเซียม และ อนุภาคดินเหนียว การจำแนกศักยภาพของถิ่นที่ขึ้นของรักใหญ่ด้วยระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ พบว่า มีพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมาก ปานกลาง และน้อย มีค่าเท่ากับ เท่ากับ 4,392.33, 2,722.48 และ 919.01 เฮคแตร์ ตามลำดับ ดังนั้นการจัดการรักใหญ่เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ศึกษาจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีความเหมาะสมที่ส่งเสริมการขึ้นอยู่ของรักใหญ่ เป็นสิ่งสำคัญ

คำสำคัญ: ป่าเต็งรัง ความหลากชนิด รักใหญ่ ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์


Download full text (Thai pdf)