THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

การวิเคราะห์พื้นที่การกักเก็บคาร์บอนของไม้สัก (Tectona grandis Linn.f.) ในพื้นที่สวนป่าขุนแม่คำมี จังหวัดแพร่

สโรชา ลามู1, ปิยะพิศ ขอนแก่น1, อิสรีย์ ฮาวปินใจ2, กันตพงศ์ เครือมา1, จิราพร ปักเขตานัง 1 และ ต่อลาภ คำโย3*
1สาขาวิชาการจัดการป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ แพร่
2สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ แพร่
3สาขาเกษตรป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ แพร่
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: torlarp66@yahoo.com
บทคัดย่อ

การศึกษามวลชีวภาพและการกักเก็บคาร์บอนของไม้สัก มีวัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เพื่อการประเมินการกักเก็บคาร์บอนของไม้สัก (Tectona grandis Linn.f.) ในพื้นที่สวนป่าขุนแม่คำมี จังหวัดแพร่ โดยการวางแปลงขนาด 20 ? 20 เมตร ทำการวัดไม้สักที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ความสูงระดับอก มากกว่า 4.5 เซนติเมตร พร้อมทั้งจำแนกระดับศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนตามช่วงชั้นอายุไม้สัก ด้วยการวิเคราะห์แบบ Natural Breaks (Jenks) ผลการศึกษาพบว่ามวลชีวภาพและการกักเก็บคาร์บอนมีความสัมพันธ์กับอายุไม้สัก โดยมวลชีวภาพทั้งหมดของสวนป่าไม้สัก เท่ากับ 32,153.38 ตัน/เฮกตาร์ คิดเป็นปริมาณกักเก็บคาร์บอนเท่ากับ 15,112.09 ตันคาร์บอน/เฮกตาร์ ปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับ 55,411.00 ตันคาร์บอน/เฮกตาร์ และการปลดปล่อยออกซิเจนเท่ากับ 40,298.91 ตันออกซิเจน/เฮกตาร์ การจำแนกระดับศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนของพื้นที่พบว่าอยู่ในระดับปานกลางคิดเป็น 29.67 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด สวนป่าขุนแม่คำมีถือว่าทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญในการช่วยลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนอกเหนือไปจากการใช้ไม้สักในเชิงเศรษฐกิจ ดังนั้น การส่งเสริมปลูกป่าเศรษกิจนับว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมและควรเร่งส่งเสริมเพื่อให้เกิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างสมดุลระหว่างสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คำสำคัญ: ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์, การประเมินการกักเก็บคาร์บอน, ไม้สัก, สวนป่าขุนแม่คำมี


Download full text (Thai pdf)