THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL
ผลของความเป็นกรด-ด่างของดินต่อการเติบโตและคุณภาพการให้สีครามของห้อม (Baphicacanthus cusia (Nees.) Bremek.) ในพื้นที่จังหวัดแพร่
การศึกษาผลของความเป็นกรด-ด่างของดินต่อการเติบโตและคุณภาพการให้สีครามของห้อม (Baphicacanthus cusia (Nees.) Bremek.) ในพื้นที่จังหวัดเเพร่ มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบความเหมาะสมของความเป็นกรด-ด่าง เริ่มต้นของดินต่อการเติบโต และคุณภาพสีของห้อม โดยทำการวัดการเติบโตของห้อมในดินที่ทำการปรับความเป็นกรด-ด่างที่แตกต่างกันครั้งแรก และครั้งสุดท้าย และคุณภาพสีห้อมที่ได้ ผลการศึกษาพบว่า การปรับความเป็นกรด-ด่างเป็น 4.5 มีความชื้นในดินเฉลี่ย (96.25 %) ค่าแสงเฉลี่ยในโรงเรือนที่ทำการพรางแสง 70 เปอร์เซ็นต์ (101.87) ให้การเติบโตของต้นห้อมดีที่สุด โดยมีค่าความสูงเพิ่มขึ้น 10.66 เซนติเมตร ความยาวรากเพิ่มขึ้น 5.16 เซนติเมตร จำนวนกิ่งเพิ่มขึ้น 1.66 กิ่ง และจำนวนใบเพิ่มขึ้น 15 ใบ ตามลำดับ ส่วนการไม่ปรับความเป็นกรด-ด่างในดินให้คุณภาพของสีตามมาตรฐาน เนื่องจากมีค่า L* เท่ากับ 21.38 a* เท่ากับ -3.18 และ b* เท่ากับ -5.93 โดยค่า L* บ่งบอกว่าเป็นสีเข้ม เมื่อมีค่าเข้าใกล้ 0 ค่า -a* บ่งบอกว่าเป็นสีเขียว และค่า -b* บ่งบอกว่าเป็นสีน้ำเงิน และพบปริมาณลิวโคอินดิโก เท่ากับ 88.53 ไมโครมิลลิลิตร ซึ่งปริมาณลิวโคอินดิโก แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการติดสีของสีย้อม อย่างไรก็ตามการปรับความเป็นกรด-ด่างเป็น 4.5 ยังให้คุณภาพของสีตามมาตรฐานรองลงมาจากการไม่ปรับความเป็นกรด-ด่าง มีค่า L* (28.34) a* (-4.83) และ b* (-3.09) และมีปริมาณการเปลี่ยนเป็นลิวโคอินดิโก เท่ากับ 77.20 ไมโครมิลลิลิตร แสดงให้เห็นว่า ห้อมสามารถใช้ในการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวได้ ซึ่งสามารถให้ประโยชน์แก่ชุมชนที่มีการปลูกห้อมอันก่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและพัฒนาเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในอนาคตได้ต่อไป
คำสำคัญ: ความเป็นกรด-ด่าง สีคราม Baphicacanthus cusia ลิวโคอินดิโก