THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

การติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้โดยใช้ข้อมูลระยะไกลและดัชนีพืชพรรณร่วมกับ ดัชนีกายภาพบางประการใน ลุ่มน้ำสะเนียน-ไสล จังหวัดน่าน

ศรศักดิ์ แก้วคำสอน เชิดศักดิ์ ทัพใหญ่ และ กัมปนาถ ปิยะธำรงชัย
1
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: singkaew35.@hotmail.com
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำแนกและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้บริเวณลุ่มน้ำสะเนียน-ไสล ระหว่าง ปี พ.ศ. 2544 ถึง ปี พ.ศ. 2552 และระหว่างปีพ.ศ. 2552 ถึง ปี พ.ศ. 2559 โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม ภาพถ่ายจากดาวเทียม LANDSAT 5 และภาพถ่ายจากดาวเทียม LANDSAT 8 ETM+ เพื่อการจำแนกชนิดป่าด้วยวิธี Supervised Classification ในระบบภูมิสารสนเทศ โดยใช้ค่าการสะท้อนของดัชนีพืชพรรณ 5 ดัชนี ได้แก่ Difference Vegetation Index (DVI), Normalized Difference Vegetation Index (NDVI), Soil Adjusted Vegetation Index (SAVI), Green Normalized Difference Vegetation Index (GNDVI), Normalized Difference Water Index (NDWI) ร่วมกับการสำรวจข้อมูลภาคสนามด้วยการวางแปลงขนาด 40 เมตร X 40 เมตร ทั้งหมด 15 แปลง เพื่อศึกษาองค์ประกอบพรรณไม้ในพื้นที่และตรวจสอบความถูกต้องของการจำแนกประเภทป่าและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ผลการศึกษาพบว่า พบพันธุ์ไม้ทั้งหมดจำนวน 44 ชนิด 35 สกุล 24 วงศ์ มีค่าดัชนีความหลากชนิดของไม้ต้น เท่ากับ 3.42 สังคมพืชบริเวณนี้ มีขนาดพื้นที่หน้าตัดโดยรวม เท่ากับ 60.10 ตารางเมตร/เฮกแตร์ ดัชนีความสำคัญทางนิเวศวิทยาแม่ไม้ขนาด 100 เซนติเมตรขึ้นไป (Important Value Index, IVI) ดัชนีความสำคัญสูงสุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ ไทรเลือด กระบก รัง ยางแดง เหียง มะดูก ยมหิน มะกอกเกลื้อน ตะแบกแดง และ ตะแบกเลือดมีค่าเท่ากับ 42.10, 30.25, 16.39, 16.22, 12.21, 11.10, 10.40, 9.77, 9.74 และ 9.39 % ตามลำดับ ค่าดัชนีความคล้ายคลึงของสังคมของป่าไม้ได้แก่ ป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง คือ ร้อยละ 53.54, 34.28 และ 57.7 ตามลำดับ สามารถจำแนกชนิดป่าของพื้นที่ศึกษาในปี พ.ศ. 2544 ได้ 3 ชนิด ป่าเต็งรัง ป่าดิบ และป่าเบญจพรรณ มีพื้นที่ปกคลุมร้อยละ 5.80 , 20.10 และ 58.00 ของพื้นที่ทั้งหมด ตามลำดับ พื้นที่ป่ามีแนวโน้มลดลงจากอดีตมาก จากพื้นที่ป่าเดิมร้อยละ 83.90 ของพื้นที่ ในปี พ.ศ. 2544 ลดลงเหลือร้อยละ 40.00 และ 34.80 ของพื้นที่ในปี พ.ศ. 2552 และ 2559 ตามลำดับ อาจเกิดจากนโยบายการสนับสนุนการปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยวและมาตรการส่งเสริมของภาครัฐในการทำการเกษตรทำให้พื้นที่ป่าถูกเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่เกษตรกรรมมากขึ้น

คำสำคัญ:


Download full text (Thai pdf)