THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

ปัจจัยแวดล้อม และโครงสร้างทางสังคมของแมลงผิวดิน ในพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินต่างกัน ในจังหวัดปทุมธานี

นนทชา สังข์น้ำมนต์1,2, วัฒนชัย ตาเสน1* และ ยงยุทธ ไตรสุรัตน์1
1คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กรุงเทพฯ
2สำนักการอนุญาต กรมป่าไม้ จตุจักร กรุงเทพฯ
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: fforwct@ku.ac.th
บทคัดย่อ

ความหลากชนิดและโครงสร้างทางสังคมของแมลงผิวดินได้ศึกษาในพื้นที่การใช้ประโยชน์ต่างกัน จังหวัดปทุมธานี ซึ่งจำแนกพื้นที่ออกเป็น 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เกษตรแปลงปลูกปาล์มน้ำมัน พื้นที่แปลงปลูกยูคาลิปตัส พื้นที่วนเกษตร และพื้นที่เกษตรแปลงปลูกส้ม ทำการศึกษาปัจจัยแวดล้อม และเก็บตัวอย่างแมลงผิวดินโดยใช้กับดักหลุมและกับดักถุงผ้า ทำการเก็บตัวอย่างระหว่างเดือนมกราคมถึงธันวาคม พ.ศ. 2558 โดยการสุ่มตัวอย่างแบบง่ายกระจายทั่วพื้นที่ ทำการเก็บตัวอย่างทุก 2 เดือน ผลการศึกษาพบแมลงจำนวนทั้งสิ้น 144 ชนิด 29 วงศ์ 9 อันดับ ซึ่งแมลงในอันดับ Hymenoptera พบจำนวนชนิดมากที่สุดจำนวน 55 ชนิด รองลงมาเป็นอันดับ Coleoptera ส่วนค่าดัชนีความหลากหลายและค่าดัชนีความสม่ำเสมอพบว่าในพื้นที่แปลงปลูกยูคาลิปตัส มีค่าดัชนีของแมลงผิวดินมากที่สุด ในฤดูฝนพบแมลงผิวดินมากกว่าฤดูแล้ง ส่วนปัจจัยแวดล้อม พบว่าค่าความเป็นกรด-ด่างดิน (soil pH) ค่าฟอสฟอรัส และค่าไนโตรเจน มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ (p<0.01) กับจำนวนชนิดของแมลงผิวดิน แสดงให้เห็นว่าปัจจัยแวดล้อมบางประการมีผลต่อลักษณะทางสังคมของแมลงผิวดินในพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินต่างกันด้วย ดังนั้น การจัดการปัจจัยแวดล้อมให้มีความเหมาะสมสามารถช่วยอนุรักษ์ความหลากหลายของแมลงผิวดินได้

คำสำคัญ: ความหลากชนิด, แมลงผิวดิน, ปัจจัยแวดล้อมบางประการ, การใช้ประโยชน์ที่ดิน


Download full text (Thai pdf)