THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

ความแตกต่างของการให้บริการทางนิเวศด้านการให้น้ำจากกิจกรรมการพัฒนาป่าไม้ที่ต่างกัน บริเวณลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่

อรกานต์ เกษรบัว1*, วีนัส ต่วนเครือ 2 และ ยุทธพงษ์ คีรีมังคละ2
1บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ
2ภาควิชาอนุรักษวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: oragan.k@ku.th
บทคัดย่อ

บริการของระบบนิเวศลุ่มน้ำด้านการให้น้ำ เป็นดัชนีที่สามารถบอกถึงผลของการฟื้นฟูระบบนิเวศด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา และเปรียบเทียบบริการด้านการให้น้ำจากกิจกรรมการพัฒนาป่าไม้ที่ต่างกันของลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ 1) กิจกรรมการพัฒนาป่าไม้ด้วยระบบน้ำฝน 2) กิจกรรมการพัฒนาป่าไม้ด้วยระบบฝายต้นน้ำ 3) กิจกรรมการพัฒนาป่าไม้ด้วยระบบชลประทาน และ 4) กิจกรรมการพัฒนาป่าไม้ด้วยระบบฝายต้นน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก โดยวิเคราะห์ปริมาณน้ำท่า วันที่ปริมาณน้ำสะสมตามที่กำหนด (Flow date) และช่วงเวลาการไหลของน้ำในลำธาร (Flow interval) ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2560 เป็นดัชนี ผลการศึกษาพบว่า ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี และรายฤดูกาล มีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดยปริมาณน้ำท่ารายปี และในช่วงน้ำหลากของกิจกรรมการพัฒนาป่าไม้ด้วยระบบน้ำฝนมีปริมาณมากที่สุด เท่ากับ 226.67, 224.86 มิลลิเมตร และในช่วงแล้งฝน กิจกรรมการพัฒนาป่าไม้ด้วยระบบฝายต้นน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กมีปริมาณมากที่สุด เท่ากับ 11.52 มิลลิเมตรโดยวันที่เกิดปริมาณน้ำท่าสะสมร้อยละ 25, 50 และ 75 ในช่วงน้ำหลาก และร้อยละ 95 และ 99 ในช่วงแล้งฝน พบว่า กิจกรรมการพัฒนาป่าไม้ด้วยระบบฝายต้นน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก มีวันที่ปริมาณน้ำสะสมมากที่สุดซึ่งแสดงว่าใช้เวลานานที่สุดในการสะสมน้ำท่า สอดคล้องกับช่วงเวลาการไหลของปริมาณน้ำท่าสะสมร้อยละ 25 และร้อยละ 50 ในช่วงน้ำหลาก และร้อยละ 5 และร้อยละ 1 สุดท้าย ในช่วงแล้งฝน ซึ่งพบว่า ระบบฝายต้นน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กมีช่วงเวลาสั้นที่สุด แสดงว่ามีน้ำไหลในลำธารยาวนานที่สุดให้บริการดีที่สุดในทุกดัชนี ผลการศึกษาในครั้งนี้ สามารถใช้เป็นแนวทางในการเลือกกิจกรรมที่ใช้ในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ต้องการให้บริการด้านการให้น้ำเป็นดัชนีสำคัญ และเป็นฐานข้อมูลในการจัดการทรัพยากรน้ำ และแก้ไขปัญหาการเกิดอุทกภัยในช่วงฤดูฝน และการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งของลุ่มน้ำ

คำสำคัญ: บริการทางนิเวศ การให้น้ำ การฟื้นฟูป่าไม้


Download full text (Thai pdf)