THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

โครงสร้างสังคมพืชและปัจจัยดินในพื้นที่ปลูกป่าฟื้นฟูอายุ 40 ปี บริเวณต้นน้ำแม่สาคร จังหวัดน่าน

อนุสรณ์ สะสันติ1, รุ่งรวี ทวีสุข2, พิทักษ์ไทย ประโมสี2, อนุพงษ์ กาพจันทร์2 และ แหลมไทย อาษานอก3*
1ส่วนวิจัยต้นน้ำ สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพฯ
2สาขาวิชาการจัดการป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่
3สาขาวิชาเกษตรป่าไม้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: lamthainii@gmail.com
บทคัดย่อ

การศึกษาโครงสร้างสังคมพืชในพื้นที่ฟื้นฟูป่าสามารถทำให้ทราบถึงการตั้งตัวของสังคมพืชและอันจะนำไปสู่การประเมินความสำเร็จในการฟื้นฟูป่า โดยเฉพาะการฟื้นฟูป่าต้นน้ำถือเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับการจัดการป่าไม้เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยดินและองค์ประกอบชนิดไม้ต้นที่ขึ้นเจริญทดแทนในฟื้นพื้นที่แปลงปลูกป่าฟื้นฟูอายุ 40 ปี ด้วยชนิดไม้ที่แตกต่างกัน รวมถึงป่าผสมผลัด บริเวณต้นน้ำแม่สาคร จังหวัดน่าน โดยการวางแปลงขนาด 20 เมตร x 20 เมตร ในพื้นที่แปลงปลูกป่า ได้แก่ แปลงปลูกประดู่ แปลงปลูกสัก และ แปลงปลูกยูคาลิปตัส และป่าผสมผลัดใบ โดยวางแปลงตัวอย่างสังคมพืชละ 5 แปลง รวมทั้งสิ้น 20 แปลง แล้วทำการเก็บข้อมูลด้านองค์ประกอบของชนิดของไม้ต้น ปัจจัยดิน เพื่อวิเคราะห์หาค่าลักษณะทางสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยดินและสังคมพืช ผลการศึกษา พบว่ามีจำนวนชนิดไม้ต้นทั้งหมด 61 ชนิด 53 สกุล 27 วงศ์ จากไม้ทั้งหมด 476 ต้น โดยแปลงปลูกประดู่ และ แปลงปลูกสัก มีค่าดัชนีความหลากหลาย ขนาดพื้นที่หน้าตัด ความหนาแน่น และดัชนีความคล้ายคลึง ใกล้เคียงกับป่าผสมผลัดใบมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับป่าที่ปลูกฟื้นฟูด้วยไม้ยูคาลิปตัส และพบว่าปริมาณแมกนีเซียมในดินเป็นปัจจัยกำหนดชนิดไม้เด่นที่ขึ้นเจริญทดแทนในพื้นที่แปลงปลูกสัก ปริมาณอินทรีย์วัตถุเป็นปัจจัยกำหนดชนิดไม้เด่นในป่าผสมผลัดใบ ชนิดไม้เด่นในแปลงปลูกยูคาลิปตัสสามารถขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่มีธาตุอาหารน้อย ส่วนชนิดไม้เด่นในแปลงปลูกประดู่ไม่ปรากฏปัจจัยกำหนดที่ชัดเจน จากผลการศึกษาบ่งชี้ว่าการฟื้นฟูป่าต้นน้ำด้วยการปลูกชนิดไม้พื้นถิ่นสามารถช่วยให้สภาพป่ากลับเข้าสู่สภาวะใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติได้ดีกว่าการปลูกไม้โตเร็วต่างถิ่น

คำสำคัญ: การฟื้นฟูป่า การทดแทนตามธรรมชาติ ความหลากชนิด ไม้พื้นถิ่น ไม้ต่างถิ่น


Download full text (Thai pdf)