THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL
ความหลากชนิดและการใช้ประโยชน์ของนกในป่าชายเลนฟื้นฟู บริเวณศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
การศึกษาความหลากชนิดและการใช้ประโยชน์ของนกในป่าชายเลนฟื้นฟูบริเวณศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบจำนวนชนิด สถานภาพ ค่าดัชนีความหลากชนิด กลุ่มสังคมนกตามพื้นที่ศึกษา การใช้ประโยชน์ตามระดับชั้นความสูงด้านตั้ง และรูปแบบการหากินของนก ดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 ถึง เมษายน 2560 โดยกำหนดแปลงตัวอย่าง ขนาด100 x 100 เมตร จำนวน 10 แปลง ใช้วิธีสำรวจโดยตรงและเดินตามแนวคันนากุ้งเดิม ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนธรรมชาติ ป่าชายเลนปลูก ป่าแสม และนากุ้งเสื่อมโทรม พบนกทั้งสิ้น 94 ชนิด 15 อันดับ 41 วงศ์ 68 สกุล พบนกในวงศ์นกยาง Ardeidae มากที่สุด 12 ชนิด มีนกที่มีสถานภาพแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) 1 ชนิด ได้แก่ นกกระสาแดง (Ardea purpurea) ค่าดัชนีความหลากหลาย (Shannon Wiener Diversity Index) และค่า Evenness Index มีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยพบว่า นากุ้งเสื่อมโทรมมีค่าความหลากหลายมากที่สุด คือ H' = 3.41 รองลงมาคือป่าชายเลนธรรมชาติ H' = 3.17 ป่าชายเลนปลูก H' = 2.86 และพื้นที่ป่าแสม H' =2.67 ตามลำดับ การใช้ประโยชน์ของนกตามระดับชั้นความสูงด้านตั้งสามารถแบ่งนกได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วย ระดับชั้นความสูงตั้งแต่ 0-10 เมตร กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วยระดับชั้นความสูงมากกว่า 10-20 เมตร และกลุ่มที่ 3 ประกอบด้วยระดับชั้นความสูงหากินมากกว่า 20 เมตร โดยนกแซงแซวหางปลา (Dicrurus macrocercus) มีช่วงชั้นความสูงการใช้ประโยชน์ทางด้านตั้งได้กว้างมากที่สุด ในส่วนรูปแบบการหากินของนก 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มนกที่กินปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 37.23 กลุ่มนกที่บินโฉบจับแมลง ร้อยละ 14.89 และกลุ่มนกที่กินแมลงตามใบไม้ร้อยละ 12.77 ตามลำดับ งานวิจัยนี้สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อสนับสนุนงานด้านการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ที่มีคุณภาพและการรักษาระบบนิเวศให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนสืบไป
คำสำคัญ: การใช้ประโยชน์ของนก ป่าชายเลนฟื้นฟู ความหลากชนิดของนก ระดับชั้นความสูงด้านตั้ง ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี