THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

อิทธิพลของช่องว่างระหว่างเรือนยอดและแม่ไม้ต่อการกำหนดลักษณะของชนิดไม้เด่น ในสังคมพืชป่าพรุน้ำจืดบ้านเซปะหละ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

แหลมไทย อาษานอก จตุพร โกฏค้างพลู สุพรรษา รอดคงไร ดาริณี จันด้วง พิพัฒ เกตุดี และ มงคล คำสุข
1
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: lamthainii@gmail.com
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ประกอบชนิดพันธุ์พืชและลักษณะของชนิดพันธุ์ไม้เด่นที่ถูกกำหนดโดยช่องว่างระหว่างเรือนยอดและแม่ไม้ ในพื้นที่ป่าพรุน้ำจืดบ้านเซปะหละ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โดยการวางแปลงแบบแถบขนาด 10 เมตร x 300 เมตร จำนวน 3 แถบ พร้อมกับเก็บข้อมูลองค์ประกอบชนิดพันธุ์พืชโดยการวัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอกของไม้ยืนต้นทุกต้นที่มีขนาดมากกว่าหรือเท่ากับ 1 เซนติเมตร แล้วทำการวิเคราะห์สังคมพืชร่วมกับปัจจัยด้านช่องว่างระหว่างเรือนยอดและแม่ไม้ ผลการศึกษาพบพันธุ์ไม้ 64 ชนิด 45 สกุล 30 วงศ์ จากไม้ทั้งหมด 2,512 ต้น ไม้ใหญ่มีค่าดัชนีความหลากชนิด เท่ากับ 2.75 มีขนาดพื้นที่หน้าตัดและมีความหนาแน่นของหมู่ไม้ เท่ากับ 40.56 ตร.ม./เฮกแตร์ และ 1,428 ต้น/เฮกแตร์ ตามลำดับ ชนิดไม้เด่นที่มีค่าดัชนีความสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ ไคร้ย้อย (Elaeocarpus grandiflorus) หว้าพรุ (Syzygium hulletianum) แดงน้ำ (Pometia pinnata) เตยหนาม (Pandanus tectorius) ชมพู่น้ำ (S. siamense) หว้า (S. cumini) ตังหน (Calophyllum sp.) สนุ่น (Salix tetrasperma) ทองหลางป่า (Erythrina subumbrans) และเงาะหนู (Nauclea subdita) นอกจากนั้นพบว่าลูกไม้ของชนิดไม้เด่นถูกกำหนดโดยช่องว่างระหว่างเรือนยอดและแม่ไม้ ทำให้แบ่งลักษณะของชนิดไม้เด่น ออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ชนิดไม้ทนร่ม ได้แก่ ไคร้ย้อย แดงน้ำ ชมพู่น้ำ และตังหน 2) ชนิดไม้ที่ต้องการแสง ได้แก่ สนุ่น และเงาะหนู และ 3) ชนิดไม้ทั่วไป ได้แก่ ชมพู่ (S. megacarpum) หว้า หว้าน้ำ (S. thorelii) และหว้าพรุ จากผลการวิจัยนี้สามารถนำไปใช้ในการพิจารณาลักษณะของชนิดพันธุ์ไม้เด่นเพื่อใช้ในการฟื้นฟูป่าพรุน้ำจืดที่เสื่อมโทรมซึ่งอาจทำให้ประสบความสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น

คำสำคัญ:


Download full text (Thai pdf)