THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

โครงสร้างของสังคมพืชตามริมฝั่งแม่น้ำโขง ประเทศไทย

ปณิดา กาจีนะ สถิตย์ ถิ่นกำแพง อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์ และ สราวุธ สังข์แก้ว
1
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: fforsws@ku.ac.th
บทคัดย่อ

การศึกษาโครงสร้างของสังคมพืชตามริมฝั่งแม่น้ำโขง ประเทศไทย ดำเนินการศึกษาในปี พ.ศ. 2553 โดยทำการศึกษารวมทั้งหมด 28 จุดสำรวจ (ภาคเหนือ 3 จุด และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 25 จุด) แต่ละจุดสำรวจทำการวางแปลงตัวอย่างแบบแถบ (belt transect) โดยใช้แปลงตัวอย่างย่อยขนาด 10x10 ตารางเมตร วางต่อเนื่องกันจากตลิ่งไปจนจรดน้ำ รวมจำนวนแปลงตัวอย่างย่อยทั้งหมด 293 แปลง การศึกษาครั้งนี้พบพรรณไม้ทั้งหมด (รวมทั้งไม้ต้นและไม้พื้นล่าง) 155 ชนิด 119 สกุล 48 วงศ์ ในที่นี้มีพรรณไม้ที่มีสถานะทางการอนุรักษ์ ตามการจัดสถานภาพของ Pooma et al. (2005) เป็นพืชที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ นาวน้ำ (Artabotrys spinosus) และหางนาค (Sauropus heteroblastus) ผลการวิเคราะห์ค่าความสำคัญ (Importance values) ของพรรณไม้ต้น พบว่าไม้ต้นที่มีค่าความสำคัญเด่นเป็น 3 อันดับแรก คือ มะเดื่ออุทุมพร (Ficus racemosa) ตะแบกโขง (Lagerstroemia sp.) และ ตะขบฝรั่ง (Muntingia calabura) โดยมีค่าความสำคัญเท่ากับ 42.49, 20.75 และ 19.76 เปอร์เซนต์ ตามลำดับ ส่วนลูกไม้ของไม้ต้นที่มีค่าความสำคัญเด่นเป็น 3 อันดับแรก คือ กระถินยักษ์ (Leucaena leucocephala) กุ่มน้ำ (Crateva magna) และ จิกน้ำ (Barringtonia acutangula) โดยมีค่าความสำคัญเท่ากับ 21.84, 19.27 และ 16.64 เปอร์เซนต์ ตามลำดับ และกล้าไม้ของไม้ต้นที่มีค่าความสำคัญเด่นเป็น 3 อันดับแรก คือ กระถินยักษ์ ข่อย (Streblus asper) และ ตะขบฝรั่งโดยมีค่าความสำคัญเท่ากับ 72.31, 22.92 และ 14.41 เปอร์เซนต์ ตามลำดับ สามารถจำแนกสภาพพื้นป่าของสังคมพืชริมน้ำออกได้เป็น 6 ประเภท คือ 1) หาดทราย 2) หาดหิน 3) หาดทรายสลับโขดหิน 4) โขดหินหรือลานหิน 5) ตลิ่งดินปนทรายที่ไม่มีหิน และ 6) ตลิ่งคอนกรีตและตลิ่งหินก้อน โดยตลิ่งดินปนทรายที่ไม่มีหินเป็นประเภทของพื้นป่าที่พบได้มากที่สุดตลอดแนวแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศไทย

คำสำคัญ:


Download full text (Thai pdf)