THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

ผลของการเปลี่ยนแปลงสิ่งปกคลุมดินต่อปริมาณน้ำในลำธารพื้นที่สถานีวิจัยต้นน้ำแม่กลอง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

สำเริง ปานอุทัย สมชาย อ่อนอาษา บุญมา ดีแสง และต่อลาภ คำโย
1
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: newsam@3bbmail.com
บทคัดย่อ

ทำการศึกษาลักษณะทางอุทกวิทยาตามการเปลี่ยนแปลงการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินบริเวณพื้นที่สถานีวิจัยต้นน้ำแม่กลอง จังหวัดกาญจนบุรี โดยใช้ข้อมูลในช่วงปี พ.ศ. 2537-2557 ผลการศึกษา พบว่า พื้นที่สถานีวิจัยต้นน้ำแม่กลองมีปริมาณน้ำฝนรายปีเฉลี่ย 1,679.3 มิลลิเมตร มีปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 552,512.05 ลูกบาศก์เมตร/ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 552.5 มิลลิเมตร และมีศักยภาพการให้น้ำท่า 33.2 เปอร์เซ็นต์ของน้ำฝน เป็นปริมาณน้ำในช่วงน้ำหลาก 73.5 เปอร์เซ็นต์ และเป็นน้ำในช่วงแล้งฝน 26.5 เปอร์เซ็นต์ ผลการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางอุทกวิทยาใน 3 ช่วงเวลา คือ ช่วงปี พ.ศ. 2537-2542, พ.ศ. 2543-2548 และ พ.ศ. 2549-2554 ซึ่งในแต่ละช่วงมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินคือมีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นจาก 84.25 เปอร์เซ็นต์ในปี พ.ศ. 2535 เป็น 92.48 และ 97.27 เปอร์เซ็นต์ ในปีพ.ศ. 2543 และพ.ศ.2551 ตามลำดับ พบว่าปริมาณน้ำท่ารายปีมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย เช่นเดียวกับปริมาณน้ำในช่วงน้ำหลากที่มีแนวโน้มลดลง ส่วนปริมาณน้ำในช่วงแล้งฝนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับช่วงเวลาการไหลของน้ำท่าในช่วงน้ำหลากในแต่ละช่วงเวลาของปี พบว่า มีระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น โดยปริมาณน้ำท่า 50 เปอร์เซ็นต์ของน้ำทั้งหมดจะมีระยะเวลาการไหลที่เพิ่มขึ้นจากจาก 72 วัน เป็น 95 และ 96 วัน ตามลำดับ และระยะเวลาที่ปริมาณน้ำ 5 และ 1 เปอร์เซ็นต์สุดท้ายของน้ำทั้งหมดมีระยะเวลาที่สั้นลงตามการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ป่าไม้ ขณะที่การฟื้นตัวของป่าที่มีการทดแทนทางธรรมชาติพบว่า ลุ่มน้ำป่าทดแทนตามธรรมชาติจะปลดปล่อยปริมาณน้ำท่า ลงสู่พื้นที่ตอนล่างประมาณ 1,416,404.86 ลูกบาศก์เมตร/ปี คิดเป็นปริมาณน้ำท่าต่อพื้นที่ 188,831.25 ลูกบาศก์เมตร/ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นความสูง 245.48 มิลลิเมตร และพบว่ามีศักยภาพการให้น้ำท่าต่อปริมาณน้ำฝนต่ำ ประมาณร้อยละ 15.22 ของน้ำฝน มีปริมาณตะกอนแขวนลอยประมาณ 25,547.14 กิโลกรัม/ปี หรือคิดเป็นต่อพื้นที่ประมาณ 7.13 กิโลกรัม/ไร่/ปี สำหรับความสามารถในการกักเก็บน้ำของดิน พบว่า ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีการทดแทนทางธรรมชาติภายในความลึก 150 เซนติเมตรสามารถกักเก็บน้ำได้โดยเฉลี่ย 289.97 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นค่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของดินในป่าผสมผลัดใบในภาคตะวันตก

คำสำคัญ:


Download full text (Thai pdf)