THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

ความหลากหลายทางชีวภาพและการประเมินมูลค่าการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าเต็งรังมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่

แหลมไทย อาษานอก ธารรัตน์ แก้วกระจ่าง ฑีฆา โยธาภักดี ภัทรวิชญ์ ดาวเรือง ประสิทธิ์ วงษ์พรม ทัศนัย จีนทอง วียะวัฒน์ ใจตรง และ วัชระ สงวนสมบัติ
1
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: lamthainii@gmail.com
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของ ไม้ต้น นก แมลง แมงมุม และเห็ดราขนาดใหญ่ รวมถึงการประเมินมูลค่าการใช้ประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพ ในพื้นที่ป่าเต็งรังของมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ โดยการสำรวจแบบใช้แปลงตัวอย่างและวิเคราะห์หาความหลากหลาย พบพันธุ์ไม้จำนวน 40 ชนิด 30 สกุล 20 วงศ์ มีค่าดัชนีความหลากชนิดเท่ากับ 2.42 วงศ์ที่พบมากคือ Rubiaceae, Fabaceae, Dipterocarpaceae และ Phyllanthaceae พบนกจำนวน 40 ชนิด 31 สกุล 22 วงศ์ 10 อันดับ มีค่าดัชนีความหลากชนิด เท่ากับ 3.01 นกที่พบส่วนใหญ่เป็นนกในอันดับนกจับคอน 37 ชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พบแมลงจำนวน 124 ชนิด 101 สกุล 16 วงศ์ แบ่งเป็นผีเสื้อกลางวัน จำนวน 57 ชนิด 48 สกุล 5 วงศ์ ตั๊กแตน จำนวน 27 ชนิด 27 สกุล 17 วงศ์ย่อย จาก 6 วงศ์ และ มดจำนวน 40 ชนิด 27 สกุล 5 วงศ์ พบแมงมุม 69 ชนิด 67 สกุล 25 วงศ์ วงศ์ที่พบมากที่สุด คือ วงศ์ Salticidae และพบเห็ดจำนวน 40 ชนิด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเห็ด saprophyte 18 ชนิด และกลุ่มเห็ด symbiosis-ectomycorrhizal 22 ชนิด เป็นเห็ดที่รับประทานได้ 21 ชนิด การประเมินมูลค่าการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ พบว่าพืชอาหารและสัตว์อาหารที่สำคัญ เช่น เห็ด หน่อไม้ ผัก แมงมัน ผักหวาน และ ไข่มดแดง ซึ่งมีมูลค่าในฤดูฝนมากที่สุด 14,442.56 บาท/ครัวเรือน/ปี มูลค่าที่ไม่เป็นเงินสดรวมเท่ากับ 17,627 บาท/ครัวเรือน/ปี มูลค่ารวมทั้งหมดของผลผลิตที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ทางอ้อมจากป่าทั้งหมด เท่ากับ 12,621,247 บาท/ปี ผลการศึกษานี้บ่งชี้ว่าการอนุรักษ์ป่าภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ สามารถช่วยอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชุมชนโดยรอบได้

คำสำคัญ:


Download full text (Thai pdf)