THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

ความหลากหลายทางชนิดพันธุ์และนิเวศวิทยาของเห็ดป่ากินได้ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านบุญแจ่ม จังหวัดแพร่

สุจิตรา โกศล สุนารี วังลึก ธนภักษ์ อินยอด ธนภัทร เติมอารมณ์ วรรณา มังกิตะ และ ธนากร ลัทธิ์ถีระสุวรรณ
1
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: sujitra@tistr.or.th
บทคัดย่อ

เห็ดป่ากินได้นับว่าเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ที่สำคัญสำหรับคนในชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ป่าไม้ธรรมชาติ แต่การศึกษาปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่อาจจะส่งผลต่อการเกิดดอกและเพิ่มผลผลิตของเห็ดและพืชป่าในประเทศไทยยังมีรายงานการวิจัยน้อยมาก การวิจัยของโครงการจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) สำรวจความหลากหลายของเห็ดป่ากินได้ (2) ตรวจวัดและวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการเกิดเห็ดและพืชป่ากินได้ (3) ศึกษาลักษณะทางนิเวศวิทยาของเห็ดป่ากินได้ การวิจัยได้วางแปลงทดลองถาวร (ขนาด 40x40 ตารางเมตร) จำนวน 10 แปลง กระจายในพื้นที่ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านบุญแจ่ม อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ใช้สำหรับสำรวจชนิดและศึกษานิเวศวิทยาของเห็ด ศึกษาวิเคราะห์คุณสมบัติของดิน รวมทั้งติดตั้งชุดอุปกรณ์สำหรับเก็บบันทึกข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ตั้งแต่เมษายน พ.ศ. 2560-สิงหาคม 2561 ผลการศึกษา พบเห็ดกินได้ จำนวน 9 สกุล 16 ชนิด เห็ดที่พบส่วนใหญ่ จัดอยู่ในสกุล Russula เช่น เห็ดน้ำหมาก เห็ดหน้าม่อย เห็ดน้ำแป้ง โดยร้อยละ 75 ของเห็ดกินได้ จัดเป็นเห็ดไมคอร์ไรซา พบเฉพาะในป่าเต็ง-รัง ซึ่งมี ไม้วงศ์ยาง (Dipterocarpaceae) ได้แก่ เต็ง รัง และยางพลวง เป็นชนิดพรรณไม้ที่เห็ดไมคอร์ไรซาเจริญอยู่กับรากฝอยของต้นไม้แบบพึ่งพากัน สำหรับปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดดอกของเห็ด พบว่า เห็ดป่ากินได้ที่พบทั้งหมดเกิดดอกในช่วงฤดูฝน (ประมาณ 1 เดือน หลังจากฝนตกหนักซึ่งมีปริมาณน้ำฝนรายเดือน มากกว่า 90 มิลลิเมตร) ปริมาณความชื้นในดิน อยู่ในช่วงร้อยละ 11.5-13.5 ระดับความเป็นกรด-เบสของดินอยู่ในช่วงระหว่าง 5.0 - 7.0 ผลการศึกษาที่ได้ช่วยเติมเต็มองค์ความรู้เกี่ยวกับการเกิดดอกของเห็ดป่าตามธรรมชาติและเป็นฐานข้อมูลสนับสนุนการศึกษาในเขตพื้นที่นี้และประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆ ได้ต่อไปในอนาคต

คำสำคัญ:


Download full text (Thai pdf)