THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

สังคมเห็ดราขนาดใหญ่ในพื้นที่กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว

กิตติมา ด้วงแค
1
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: kittimad55@gmail.com
บทคัดย่อ

ดำเนินการศึกษาความหลากชนิดของเห็ดราขนาดใหญ่ในพื้นที่กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย อุทยานแห่งชาติภูเรือ จังหวัดเลย) ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2556 - 2559 โดยทำการสำรวจและเก็บตัวอย่างภาคสนามในช่วงฤดูฝนปีละ 2 ครั้ง ผลการศึกษาสามารถรวบรวมตัวอย่างได้ทั้งสิ้น 868 ตัวอย่าง และสามารถระบุชนิดตามหลักอนุกรมวิธานได้จำนวน 359 ชนิด 143 สกุล 54 วงศ์ จัดอยู่ในกลุ่ม Ascomycota 19 ชนิด 15 สกุล 8 วงศ์ และเห็ดราในกลุ่ม Basidiomycota 340 ชนิด 128 สกุล 46 วงศ์ จำนวนสมาชิกของเห็ดที่พบมากที่สุดอยู่ในสกุล Amanita Russula และ Marasmius ตามลำดับ พบชนิดเห็ดในอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวสูงที่สุด โดยเห็ดราขนาดใหญ่ที่พบสามารถจัดแบ่งบทบาทออกได้ 4 กลุ่ม ดังนี้ เห็ดกินได้ (99 ชนิด) เห็ดพิษ (11 ชนิด) เห็ดไมคอร์ไรซา (122 ชนิด) และกลุ่มเห็ดย่อยสลาย (216 ชนิด) นอกจากนี้ยังสำรวจพบเห็ดชนิดใหม่ของโลก และมีสถานภาพเฉพาะถิ่น (endemic) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว คือ เห็ดเผาะสิรินธร (Astraeus sirindhorniae) ผลการศึกษาครั้งนี้ ได้นำมาจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพไว้ที่สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อใช้เป็นข้อมูลศึกษาถึงแนวทางการใช้ประโยชน์จากเห็ดราสายพันธุ์ต่างๆ ทั้งด้านการป่าไม้ การเกษตร อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อมและการแพทย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรและพัฒนาสกัดสารที่มีประโยชน์สำหรับต่อยอดการบริหารจัดการและอนุรักษ์ป่าไม้ของประเทศ ตลอดจนนำข้อมูลมาจัดทำคู่มือศึกษาและสำรวจเห็ดราขนาดใหญ่เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สู่เยาวชนและผู้สนใจให้เข้าใจถึงชนิดและบทบาทของเห็ดราขนาดใหญ่ต่อไป

คำสำคัญ:


Download full text (Thai pdf)