THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL
การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งการลดลงของพื้นที่ในรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงไปใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์อาจก่อให้เกิดการรบกวนพื้นที่ป่าธรรมชาติ ที่อาจส่งผลถึงการลดลงของชนิดพันธุ์และความหลากหลายทางชีวภาพได้ ทั้งนี้ วัดป่าเป็นสถานที่หนึ่งที่อาจมีพื้นที่สีเขียวในรูปแบบของพื้นที่ป่าดั้งเดิมที่ยังคงเหลืออยู่ (Relict forest) ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างและความหลากหลายของพรรณไม้ที่คงเหลืออยู่ในพื้นที่ป่าในวัด รวมทั้งประเมินสถานภาพของพรรณไม้ ในพื้นที่วัดป่า จังหวัดอุบลราชธานี โดยทำการวางแปลงตัวอย่างชั่วคราว (Temporary sample plot) แบบเฉพาะเจาะจง (purposive sampling) ขนาด 20 เมตร x 50 เมตร จำนวนทั้งสิ้น 14 แปลง ใน 13 วัด ผลการศึกษาพบว่า สังคมพืชในพื้นที่วัดป่า จำแนกได้เป็น 2 สังคมพืช ได้แก่ สังคมพืชป่าดิบแล้ง และสังคมพืชป่าเต็งรัง โดยสังคมพืชป่าดิบแล้งพบพรรณไม้ทั้งหมด 60 วงศ์ 106 สกุล 145 ชนิด จากทั้งหมด 7 วัด แบ่งออกเป็นไม้ต้น 52 วงศ์ 86 สกุล 116 ชนิด และวงศ์ของไม้ต้นที่มีความสำคัญสูงสุดจากค่า FIV (Family Importance Index) คือ วงศ์ยาง (Dipterocarpaceae) โครงสร้างของชั้นเรือนยอดจำแนกได้ 3 ชั้นเรือนยอด และไม้หนุ่มพบวงศ์ขนุน (Moraceae) วงศ์ถั่ว (Fabaceae) วงศ์เลือดควาย (Myristicaceae) จำนวนมากที่สุด ตามลำดับ และกล้าไม้พบวงศ์ยาง (Dipterocarpaceae), วงศ์ขนุน (Moraceae) และวงศ์ตะคร้อ (Sapindaceae) ตามลำดับ ส่วนสังคมพืชป่าเต็งรังพบพรรณไม้ทั้งหมด 33 วงศ์ 52 สกุล 65 ชนิด จากทั้งหมด 6 วัด โดยไม้ต้นพบ 23 วงศ์ 35 สกุล 43 ชนิด โดยวงศ์ของไม้ต้นที่มีความสำคัญได้แก่ Dipterocarpaceae สามารถแบ่งชั้นเรือนยอดได้เป็น 2 ชั้นเรือนยอด ไม้หนุ่มและกล้าไม้พบวงศ์ยาง (Dipterocarpaceae) เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นเมื่อทำการประเมินสถานภาพพบว่า มีพรรณไม้ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically endangered; CR) ได้แก่ กฤษณา (Aquilaria crassna) และยางแดง (Dipterocarpus turbinatus) และใกล้สูญพันธุ์ (Endangered; EN) เช่น ชิงชัน (Dalbergia oliveri) อีกทั้งยังสำรวจพบพืชที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable; VU) เช่น พะยูง (Dalbergia cochinchinensis) เป็นต้น
คำสำคัญ: