THAI FOREST ECOLOGICAL RESEARCH JOURNAL

ISSN 2586-9566 (Print) ISSN 2985-0789 (Online)

ลักษณะโครงสร้างของสังคมพืชป่าเต็งรังที่มีผักหวานป่า บริเวณโครงการพัฒนาบ้านโปง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

วีรวัฒน์ มาตรทอง วิชญ์ภาส สังพาลี เนตรนภา อินสลุด จุฑามาศ อาจนาเสียว สุธีระ เหิมฮึก และ เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง
1
*ผู้รับผิดชอบบทความ: อีเมล: sci.ocu@gmail.com
บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ลักษณะโครงสร้างป่าเต็งรังที่มีผักหวานป่าและลักษณะนิเวศวิทยาบางประการของผักหวานป่า โดยวางแปลงตัวอย่างถาวรขนาด 200 x 200 เมตร ทำการวัดและบันทึกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอก (DBH) ของพรรณไม้ทุกชนิดตั้งแต่ 1 เซนติเมตรขึ้นไป พร้อมบันทึกตำแหน่งต้นไม้ทุกต้น และขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางคอรากของผักหวานป่า จากการศึกษาพบไม้ยืนต้นในแปลงตัวอย่าง 2,291 ต้นต่อเฮกแตร์ มี 40 ชนิด 36 สกุล 22 วงศ์ ค่าดัชนีความสำคัญทางนิเวศวิทยา (IVI) สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เต็ง รัง ยางเหียง รักใหญ่ และพลวง มีค่าเท่ากับ 66.46, 56.87, 51.56, 33.84 และ 33.64 ตามลำดับ ค่าดัชนีความหลากหลายโดยใช้สูตรของ Shannon-Wiener index เท่ากับ 2.08 การกระจายตามชั้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอกของไม้ทุกต้นเป็นแบบ negative exponential โดยจำนวนไม้ยืนต้นส่วนมากมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอกอยู่ในช่วง 5.0-7.5 เซนติเมตร บ่งบอกถึงสภาพการเติบโตทดแทนตามธรรมชาติเป็นไปด้วยดีและป่าอยู่ในช่วงการฟื้นตัว ความสัมพันธ์ระหว่างขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอกและความสูงของไม้ยืนต้นในรูปสมการ hyperbolic มีค่าสัมประสิทธิ์เฉพาะพื้นที่ (a) เท่ากับ 1.338 และมีค่า Hmax เท่ากับ 23.15 เมตร ในขณะที่จำนวนต้นผักหวานพบทั้งหมด 794 ต้น หรือคิดเป็น 202 ต้นต่อเฮกแตร์ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่คอรากสูงสุดเท่ากับ 3.75 เซนติเมตร และมากที่สุดในชั้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางคอรากในช่วง 0.25-0.5 เซนติเมตร ผลการวิเคราะห์ความแปรปรวนในแปลงย่อยขนาด 20 x 20 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางคอรากของผักหวานป่าเฉลี่ย จำนวนของไม้ยืนต้น ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอกไม้ยืนต้นสูงสุด จำนวนต้นที่อยู่วงศ์ Dipterocarpaceae และจำนวนต้นรังมีความแตกต่างกันตามระดับความสูงของพื้นที่

คำสำคัญ:


Download full text (Thai pdf)